คำถามที่พบบ่อย

 
1. คำถาม อำนาจหน้าที่ในการรับเรื่องร้องเรียนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการ ป.ป.ท. แตกต่างกันอย่างไร และเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดบ้างที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ท.
    คำตอบ
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนเพื่อดำเนินการไต่สวนและวินิจฉัยผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองขึ้นไป รวมทั้งดำเนินการกับผู้ที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว สำหรับคณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนกล่าวหาข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งต่ำกว่าผู้อำนวยการกองหรือเทียบเท่าลงมา ซึ่งกระทำการทุจริตในภาครัฐ
 
2. คำถาม การทุจริตในภาครัฐ หมายความว่าอย่างไร
    คำตอบ  หมายความว่ากระทำทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติมิชอบในภาครัฐ โดยทุจริตต่อหน้าที่ หมายถึง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังนี้
(1) การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
(2) การปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในพฤติการณ์ที่อาจทำให้ผู้อื่นเชื่อว่ามีตำแหน่งหรือหน้าที่ ทั้งที่ตนมิได้มีตำแหน่งหรือหน้าที่นั้น เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น
(3) การใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือ
(4) การกระทำอันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวล     กฎหมายอาญาหรือตามกฎหมายอื่น
ประพฤติมิชอบ หมายถึง การใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ คำสั่งหรือมติคณะรัฐมนตรีที่มุ่งหมายจะควบคุมดูแลการรับ การเก็บรักษา หรือการใช้เงินหรือทรัพย์สินของแผ่นดิน
 
3. คำถาม ผู้ใดสามารถกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการทุจริตในภาครัฐได้บ้าง
    คำตอบ ได้แก่ (1) ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำการทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
         (2) ผู้ที่ได้พบเห็นการทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
 
4. คำถาม การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐจะกระทำอย่างไร
    คำตอบ การกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในภาครัฐจะกระทำด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้โดย
(1) กล่าวหาต่อพนักงาน ป.ป.ท. หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.
(2) กล่าวหาโดยร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งเมื่อพนักงานสอบสวนได้รับเรื่องแล้วจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. เพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 30 วัน
 
5. คำถาม หากประสงค์จะกล่าวหา แต่ไม่อยากเปิดเผยตนสามารถกระทำได้หรือไม่ อย่างไร
    คำตอบ กระทำได้ในกรณีที่เป็นการกล่าวหาด้วยวาจาต่อพนักงาน ป.ป.ท. หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. ซึ่งจะทำการบันทึกการกล่าวหาไว้ หากผู้กล่าวหาแจ้งว่าไม่ประสงค์จะเปิดเผยตน ห้ามพนักงาน ป.ป.ท. หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.เปิดเผยชื่อหรือที่อยู่ รวมทั้งหลักฐานอื่นใดที่เป็นการสำแดงตัวของผู้กล่าวหา หากพนักงาน ป.ป.ท.หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. หรือผู้ใดนำไปเปิดเผยจะมีความผิดตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551
 
6. คำถาม เมื่อมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำการหรือเกี่ยวข้องกับการกระทำการทุจริตในภาครัฐแล้วจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป
    คำตอบ คณะกรรมการ ป.ป.ท. จะพิจารณาว่าจะรับเรื่องที่กล่าวหานั้นไว้เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงหรือไม่ โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาการรับหรือไม่รับเรื่องที่กล่าวหาตามมาตรา 26 และมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551
 
7. คำถาม การดำเนินการในเรื่องการกระทำทุจริตในภาครัฐ มีการคุ้มครองดูแลผู้ถูกกล่าวหา พยาน หรือผู้เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร
    คำตอบ มีการคุ้มครองดูแล กล่าวคือ (1) กรณีผู้กล่าวหาได้กล่าวหาด้วยวาจาและไม่ประสงค์จะเปิดเผยตน จะได้รับการคุ้มครองโดยห้ามพนักงาน ป.ป.ท หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท. หรือผู้ใดเปิดเผยชื่อหรือที่อยู่ รวมทั้งหลักฐานอื่นใดที่เป็นการสำแดงตัวของผู้ถูกกล่าวหา (๒) กรณีผู้กล่าวหา ผู้เสียหาย ผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทุจริตในภาครัฐหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการจะได้รับการคุ้มครองดูแลโดยสำนักงาน ป.ป.ท. ซึ่งต่อมาหากคณะกรรมการ ป.ป.ท. เห็นว่าควรจัดให้มีมาตรการคุ้มครองช่วยเหลือแก่บุคคลดังกล่าวก็จะดำเนินการให้มีการคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองพยาน ในคดีอาญาต่อไป
 
8. คำถาม ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐได้หรือไม่ อย่างไร
    คำตอบ การดำเนินงานของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้คำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทั้งด้านป้องกันและด้านปราบปรามการทุจริตในภาครัฐแล้ว ย่อมทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจในการแต่งตั้ง ผู้แทนภาคประชาชนให้เข้าร่วมในคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง หรือแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการ เพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มอบหมายได้
 

 

 

Copyright © 2018

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) 99 หมู่ 4 อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120

Page rendered in 0.0312 seconds

Valid CSS! web counter web counter