หลักเกณฑ์ที่ 1 : ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับป่าไม้ถาวร

ป่าสงวนแห่งชาติอยู่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ กำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามขอบเขตในแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวง ตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 มีทั้งหมด 1,221 ป่า ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี กำหนดเป็นป่าไม้ถาวรโดยมติคณะรัฐมนตรี กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ในการนำเสนอคณะรัฐมนตรี มีทั้งหมด 1,044 ป่า

พิจารณาดังนี้

1.1 ป่าไม้ถาวรที่คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ตามแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติให้ใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีการประกาศตามกฎหมายเป็นหลัก

คำอธิบาย กรณีหลักเกณฑ์ที่ 1.1 มีการกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงไว้แล้ว คณะรัฐมนตรีจึงมีมติกำหนดป่าไม้ถาวรจำนวน 156 ป่า (ตามภาคผนวกหลักเกณฑ์ ที่ 1.1) ให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ตามแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีการประกาศตามกฎหมาย ดังนั้น แนวเขตที่ดินของรัฐ (ONE MAP) คือ แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ

1.2 ป่าสงวนแห่งชาติที่มีวัตถุประสงค์ประกาศตามแนวเขตป่าไม้ถาวรทั้งแปลงให้ใช้แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีการประกาศตามกฎหมายเป็นหลัก

คำอธิบาย เป็นกรณีกรมป่าไม้เร่งรัดกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามนโยบายของรัฐบาลในขณะนั้น จึงได้นำป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ป่าไม้ส่งมอบให้กรมป่าไม้ดำเนินการสงวนต่อไป กรมป่าไม้จึงได้นำป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ไปกำหนดเป็นป่าสงวนแห่งชาติตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 โดยไม่มีการรังวัด จำนวน 115 ป่า (ตามภาคผนวกหลักเกณฑ์ที่ 1.2) ดังนั้น แนวเขตที่ดินของรัฐ (ONE MAP) คือ แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ

1.3 ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีและป่าสงวนแห่งชาติที่ไม่มีวัตถุประสงค์ให้ใช้แนวเขตเดียวกัน ให้ใช้แนวเขตตามพื้นที่ป่านั้นๆ

คำอธิบาย ป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีที่นอกเหนือบัญชี (ตามภาคผนวกหลักเกณฑ์ที่ 1.1 และ 1.2) ทับซ้อนกับป่าสงวนแห่งชาติที่นอกเหนือบัญชี (ตามภาคผนวกหลักเกณฑ์ที่ 1.1 และ 1.2) ให้ใช้แนวเขตตามพื้นที่ป่านั้นๆ ดังนั้น แนวเขตที่ดินของรัฐ (ONE MAP) คือ แนวเขตที่โตกว่าระหว่างป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีกับป่าสงวนแห่งชาติ