หลักเกณฑ์ที่ 5 : ป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.)


คำอธิบาย พื้นที่ประกาศเขตปฏิรูปที่ดินทั้งประเทศ จำนวน 54.18 ล้านไร่ จัดที่ดินให้เกษตรกรแล้วประมาณ 2.7 ล้านราย จำนวน 3.5 ล้านแปลง หรือจำนวน 35.38 ล้านไร่ กันคืนกรมป่าไม้ (RF) ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกลับคืนกรมป่าไม้ พ.ศ. 2538 เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 ซึ่งเป็นพื้นที่กันคืนหลังประกาศพระราชกฤษฎีกา จำนวน 2.45 ล้านไร่ พิจารณาดังนี้

5.1 กรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ใช้แนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่มีแผนงานดำเนินการแล้วเป็นหลัก และอยู่ในเขตพื้นที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก.

กรณีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล/อำเภอ ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินตามแผนที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้ ส.ป.ก. รวมทั้งพื้นที่ที่ ส.ป.ก.กันคืน (RF) ตามบันทึกข้อตกลงเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538

คำอธิบายกรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ใช้แนวเขตตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดิน ที่มีแผนงานดำเนินการแล้วเป็นหลัก โดยตรวจสอบกับแผนที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้ ส.ป.ก. ด้วย เว้นแต่พื้นที่ที่ไม่สมควรนำไปปฏิรูปที่ดินตามบันทึกข้อตกลง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538 ให้กันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกลับคืนกรมป่าไม้ได้แก่ พื้นที่ดังต่อไปนี้

  1. พื้นที่ที่มีสภาพป่า
  2. พื้นที่ที่มีสภาพหรือศักยภาพทำการเกษตรไม่คุ้มค่า
  3. พื้นที่ล่อแหลมคุกคามต่อระบบนิเวศ และพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ไว้ให้ชุมชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน
  4. พื้นที่ภูเขาสูงชัน หรือพื้นที่ที่มีความชันโดยเฉลี่ยตั้งแต่ 35% ขึ้นไป และพื้นที่ต้นน้ำ ลำธาร
  5. พื้นที่ที่กรมป่าไม้มีภาระผูกพันตามกฎหมายเช่น สวนป่าของทางราชการ พื้นที่ที่อนุญาตให้ส่วนราชการหรือเอกชนเข้าทำประโยชน์แล้ว (ยกเว้นพื้นที่ที่มีหนังสืออนุญาต สทก. ที่ราษฎรแสดงความประสงค์เป็นหนังสือขอรับหนังสืออนุญาตของ ส.ป.ก. แทน)
  6. พื้นที่ป่าชายเลน
  7. พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่ยังไม่มีราษฎรถือครองทำกิน

กรณีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล/อำเภอ ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินตามแผนที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้ ส.ป.ก. เว้นแต่พื้นที่ที่ไม่สมควรจะนำไปปฏิรูปที่ดินตามบันทึกข้อตกลงฯ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2538

พื้นที่กันคืนตามบันทึกข้อตกลงฯ (RF) = Reforest

5.2 กรณีพื้นที่ที่ ส.ป.ก.ได้รับมอบจากการจำแนกประเภทที่ดินออกจากป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่มีรูปแผนที่แสดงแนวเขตที่ชัดเจนแล้วให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก

กรณีพื้นที่ที่ ส.ป.ก.ได้รับมอบจากการจำแนกประเภทที่ดินออกจากป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล/อำเภอ ให้ใช้แนวเขตตามแผนที่จำแนกประเภทที่ดินที่ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. เป็นหลัก พร้อมระบุรายละเอียดเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีให้ชัดเจน

คำอธิบาย พื้นที่ ส.ป.ก. ที่รับมอบจากการจำแนกออกจากป่าไม้ถาวรตามติคณะรัฐมนตรีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่มีรูปแผนที่แสดงแนวเขตที่ชัดเจนแล้ว ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก

ดังนั้น แนวเขตที่ดินของรัฐ (ONE MAP) คือ แนวเขตปฏิรูปที่ดินตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา

กรณี ส.ป.ก. ได้รับมอบจากการจำแนกออกจากป่าไม้ถาวรตามติคณะรัฐมนตรี และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล/อำเภอ ให้ใช้แนวเขตตามแผนที่จำแนกประเภทที่ดินที่ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. เป็นหลัก พร้อมระบุรายละเอียดเกี่ยวกับมติรัฐมนตรีให้ชัดเจน

ดังนั้น แนวเขตที่ดินของรัฐ (ONE MAP) คือ แนวเขตตามแผนที่จำแนกประเภทที่ดินที่ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก.

5.3 กรณีขอบเขตพื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ตามแผนที่ตรวจสอบสภาพป่า (RF) ตามบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. คลาดเคลื่อน พิจารณา ดังนี้

    5.3.1 กรณีตำแหน่งพื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ตามแผนที่ตรวจสอบสภาพป่า (RF) คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ หากพื้นที่ยังมีสภาพเป็นป่าให้ปรับเส้นแนวเขตตามข้อเท็จจริง

    5.3.2 กรณีตำแหน่งพื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ตามแผนที่ตรวจสอบสภาพป่า (RF) ในบันทึกข้อตกลงซึ่งปัจจุบันสภาพป่าได้หมดไป ให้ยึดเส้นแนวเขตตามตำแหน่ง RF เดิม

คำอธิบาย เมื่อปี พ.ศ. 2536 นโยบายของรัฐบาลในขณะนั้นต้องการเร่งรัดจัดที่ดินทำกินให้ประชาชนในรูปแบบการปฏิรูปที่ดิน ให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรมให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ต่อมาได้มีบันทึกข้อตกลงระหว่างกรมป่าไม้และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติในการกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติกลับคืนกรมป่าไม้ พ.ศ. 2538 เมื่อวันที่14 กันยายน 2538 เพื่อกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ไม่สมควรจะนำไปปฏิรูปที่ดินกลับคืนกรมป่าไม้

    อธิบายหลักเกณฑ์ 5.3.1 กรณีตำแหน่งพื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ตามแผนที่ตรวจสอบสภาพป่า (RF) คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในพื้นที่ หากพื้นที่ยังมีสภาพเป็นป่าให้ปรับแนวเขตตามข้อเท็จจริง

    ดังนั้น แนวเขตที่ดินของรัฐ (ONE MAP) คือ แนวเขตสภาพป่าตามข้อเท็จจริงในรูปถ่ายทางอากาศ

    อธิบายหลักเกณฑ์ 5.3.2 กรณีตำแหน่งพื้นที่กันคืนกรมป่าไม้ตามแผนที่ตรวจสอบสภาพป่า (RF) ในบันทึกข้อตกลงซึ่งปัจจุบันสภาพป่าได้หมดไป ให้ยึดเส้นแนวเขตตามตำแหน่ง (RF) เดิม

    ดังนั้น แนวเขตที่ดินของรัฐ (ONE MAP) คือ แนวเขตตามแผนที่ตรวจสอบสภาพป่า (RF) เดิม แต่ทั้งนี้ต้องตรวจสอบกับรูปถ่ายทางอากาศด้วย หากปรากฏว่าสภาพป่าไม่ตรงกับข้อเท็จจริงให้ปรับเป็นหลักเกณฑ์ที่ 5.3.1