หลักเกณฑ์ที่ 9 : ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวเขตชัดเจน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทับซ้อนกับที่ราชพัสดุ พิจารณาดังนี้


คำอธิบาย พรบ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518

มาตรา 4 ที่ราชพัสดุ คือ อสังหาริมทรัพย์อันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด เว้นแต่ สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ดังต่อไปนี้

  1. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และที่ดินซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้งหรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตามกฎหมายที่ดิน
  2. อสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ
  3. ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลและขององค์การปกครองท้องถิ่น ไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ

    มาตรา 5 ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุ

      บรรดาที่ราชพัสดุที่กระทรวง ทบวง กรมใดได้มาโดยการเวนคืนหรือการแลกเปลี่ยนหรือโดยประการอื่น ให้กระทรวงการคลังเข้าถือกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุนั้น ทั้งนี้ยกเว้นที่ดินที่ได้มาโดยการเวนคืนตามกฎหมาย ว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

    ที่ราชพัสดุมีทั้งหมดประมาณ 12.5 ล้านไร่ มีหลักฐานตามประมวลกฎหมายที่ดิน จำนวน 161,249 ฉบับ เนื้อที่ประมาณ 3.8 ล้านไร่ เช่น โฉนดที่ดิน โฉนดตราจอง หนังสือรับรองการทำประโยชน์ ใบจอง ส.ค.1 น.ส.ล. เป็นต้น (ข้อมูลจากระบบทะเบียนที่ราชพัสดุทั่วประเทศแยกตามหนังสือสำคัญ ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2558)

    9.1 กรณีแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ข้างต้นทับซ้อนในลักษณะคาบเกี่ยวหรือมีเจตนา ให้ใช้แนวเขตเดียวกันให้ใช้แนวเขตที่ราชพัสดุที่มีการออกหนังสือสำคัญตามประมวลกฎหมายที่ดินไว้แล้วเป็นหลัก

      กรณีนอกเหนือจากนี้ ให้ใช้แนวเขตตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

    คำอธิบาย กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวเขตชัดเจน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทับซ้อนกับที่ราชพัสดุที่มีการออกหนังสือสำคัญตามประมวลกฎหมายที่ดินในลักษณะคาบเกี่ยวหรือมีเจตนาให้เป็นแนวเดียวกัน ให้ใช้แนวเขตที่ราชพัสดุเป็นหลัก กรณีนอกเหนือจากนี้ ให้ใช้แนวเขตตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

    9.2 กรณีแนวเขตพื้นที่ป่าไม้ข้างต้นทับซ้อนกับที่ราชพัสดุที่ยังไม่มีการออกหนังสือสำคัญตามประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ใช้แนวเขตพื้นที่ตามกฎหมายของแต่ละหน่วยงาน

    คำอธิบาย กรณีป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคุ้มครอง และพื้นที่ในความรับผิดชอบของกรมป่าไม้นอกเขตป่าสงวนแห่งชาติที่มีแนวเขตชัดเจน อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทับซ้อนกับที่ราชพัสดุที่ยังไม่มีการออกหนังสือสำคัญตามประมวลกฎหมายที่ดิน เช่น ที่สงวนหวงห้ามใช้ในราชการทหาร ที่สงวนหวงห้ามใช้ในราชการกรมป่าไม้ เป็นต้น ให้ใช้แนวเขตพื้นที่ของแต่ละหน่วยงาน