กรอบแนวคิดในการกำหนดหลักเกณฑ์

เพื่อให้การปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐในระดับจังหวัดเป็นไปตามเจตนารมณ์ดังกล่าว โดยให้นำข้อมูลพื้นที่สภาพป่าที่ปรากฏในอดีตและยังไม่มีแนวเขตที่กฎหมายประกาศกำหนดไว้ ตามขอบเขตสภาพป่าในอดีตบนภาพถ่ายทางอากาศโครงการ WWS (World Wide Survey) มาตราส่วน 1 : 40000 – 60000 ที่บินถ่ายไว้เมื่อช่วงปีพุทธศักราช 2495- 2499 มาพิจารณาควบคู่กับแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1 : 50000 ชุด L708 สำหรับเป็นข้อมูลอ้างอิงเพื่อค้นหาพื้นที่ป่าไม้ที่ไม่มีสภาพการเข้าใช้ประโยชน์ ในส่วนของแนวเขตที่ดินของรัฐที่มีแผนที่แนบท้าย คณะอนุกรรมการเทคนิคการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 ได้จัดทำหลักเกณฑ์ในการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการขึ้น โดยอาศัยหลักกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี บันทึกข้อตกลงและหลักวิชาการในการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ดังนี้

    1. ลำดับศักดิ์ของกฎหมายในระบบกฎหมายไทยแบ่งระดับศักดิ์ตามลำดับ เช่น รัฐธรรมนูญพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวงข้อบัญญัติท้องถิ่น ส่วนมติคณะรัฐมนตรีมิใช่กฎหมาย แต่มีสถานะเป็น กฎ เป็นคำสั่งทางปกครอง หรือเป็นนโยบาย แล้วแต่กรณี

    2. การบังคับใช้กฏหมายก่อนหรือหลัง กรณีกฎหมายที่มีศักดิ์เท่ากัน แนวเขตที่ดินที่มีผลบังคับใช้จากกฏหมายที่ออกก่อนจะถูกให้ความสำคัญกว่าแนวเขตที่ดินที่มีผลบังคับใช้จากกฏหมายที่ออกภายหลัง

    3. เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ใช้ลักษณะภูมิประเทศสำคัญ เป็นข้อมูลอ้างอิง เช่น ภูเขา แม่น้ำ คูคลอง หนองบึง อ่างเก็บน้ำ เป็นต้น

    4. หากมีข้อกฏหมาย ระเบียบ ข้อตกลง ที่อาจขัดหรือแย้ง ให้ยึดกรอบหลักการข้างต้น เป็นพื้นฐานสำคัญในการปรับปรุงเส้นแนวเขตที่ดินของรัฐ

    5. แนวเขตที่ดินของรัฐที่ได้ปรับปรุงแล้ว จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายให้ถูกต้องต่อไป