สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมปลุกกระแสทุกภาคส่วนสร้างสังคม “ไม่ทนต่อการทุจริต” รณรงค์กิจกรรมงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชันสากล ประจำปี 2561”

วันนี้ (วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน 2561) เวลา 08.30 น. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) นำโดยพันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์งานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ภายใต้แนวคิด Zero Tolerance “คนไทยไม่ทนต่อการทุจริต” โดยมีทั้งหมด 2 กิจกรรม ได้แก่ 1) กิจกรรมเดิน-วิ่ง “Good Guy Run” รวมพลังวิ่งเพื่อส่งเสริมความดี ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 2 ธันวาคม 2561 เวลา 04.00 – 08.00 น. ณ สนามกีฬาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ 2) กิจกรรมประกาศเจตนารมณ์ในวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี 2561 ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ณ อิมแพ็คเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ ๒ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี โดยมี พลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ท. เข้าร่วมฯ ณ บริเวณชั้น 1 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ
จากนั้นเวลา 10.40 น. ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคาร 2 ชั้น 3 พิพิธภัณฑ์ต้านโกง สำนักงาน ป.ป.ช. ถนนพิษณุโลก เขตดุสิต กรุงเทพฯ พันตำรวจโท วันนพ สมจินตนากุล รองเลขาธิการฯ รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. ได้ร่วมแถลงข่าวการจัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) ประจำปี 2561 โดยกล่าวถึงดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย (Corruption Perception Index : CPI) ใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index, CPI) ของประเทศไทยในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ถึง 2560 ทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่า 3 หรือ 30 แต่ต่ำกว่า 4 หรือ 40 มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต ในปี พ.ศ. 2560 ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปรากฏว่า 2 ใน 3 จาก 180 ประเทศทั่วโลก ได้คะแนนต่ำกว่า 50 คะแนน โดยประเทศที่ได้อันดับความโปร่งใสสูงสุด คือ นิวซีแลนด์ 89 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 สำหรับไทยได้ 37 คะแนน ดีขึ้นกว่าปีก่อน 2 คะแนน ขยับจากที่ 101 ขึ้นไปอยู่ที่ 96 จาก 180 ประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทย มีการประเมินจาก 9 แหล่งข้อมูล ดังนั้น จากสถิติ จึงสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาการทุจริตเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องร่วมมือกันแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยได้กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริต โดยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560-2564) ภายใต้ยุทธศาสตร์ 6 คือ 1. สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต 2. ยกระดับเจตจำนงทางการเมืองในการต่อต้านทุจริต 3. สกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย 4. พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก 5. ปฏิรูปกลไกและกระบวนการการปราบปรามการทุจริต 6. ยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย