สำนักงาน ป.ป.ท. ชี้คดีรุกป่าร้องเรียนเยอะ ยันมีหลักฐานเมินถูกฟ้องกลับ
27 เมษายน 2558 4005

 

25 เม.ย. 58 นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.)  เปิดเผยถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯและได้มอบหมายให้ไปตรวจสอบเพิ่มเติมข้าราชการที่ทุจริตชุดแรกว่า ไม่มีอะไรมากเป็นเพียงการให้ตรวจสอบให้ละเอียดเท่านั้น เช่นเกษียนหรือยัง ข้อหาอะไร ให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งเพื่อความถูกต้อง เป็นรายชื่อในกลุ่มเดิม เพียงแต่ให้มาตรวจทานให้ถูกต้องอีกที จากนั้นรองนายกฯจะนำรายชื่อที่มีการตรวจทานแล้วทั้งหมดส่งให้นายกฯ อีกที ทุกอย่างก็จะจบที่นายกฯ ตนจึงไม่สามารถลงรายละเอียดอะไรได้ ซึ่งทั้งนายกฯและนายวิษณุ ขอไว้เลยว่าไม่อยากให้พูด เพราะมันอาจไปกระทบจนทำให้เกิดความเสียหายได้ หากยังไม่จบพูดไปก็จะไม่ดี ซึ่งท่านจะเป็นผู้ให้ข่าวเอง
            
ผู้สื่อข่าวถามว่าในส่วนของป.ป.ท.ยังมีรายชื่อข้าราชการทุจริตในล็อต 2 อยู่อีกหรือไม่  เลขาฯป.ป.ท. กล่าวว่า เรื่องนี้ทางพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศอตช. ได้กำหนดให้มีการประชุมกันทุกเดือน หากหน่วยงานไหนมีร้องเรียนมา และตรวจสอบแล้วก็ส่งมาได้ตลอด หรือเรื่องใดที่เกิดมาอย่างต่อเนื่องและยังตรวจสอบไม่เสร็จ โดยหลักการคือ การดำเนินคดีเป็นไปอย่างล่าช้าหรือบางคนหากอยู่ในตำแหน่งแล้วอาจจะมีปัญหาในทางปฏิบัติ  นายกฯจึงเห็นว่าควรจะหยิบออกมาจากจุดนั้นซะ ซึ่งหลังจากส่งรายชื่อในบัญชี 1 ไปแล้ว เราก็ทำงานไป ถ้ามีมาก็เสนอขึ้นไปเรื่อย ๆ
            
“ตอนนี้ในป.ป.ท.ก็มีการร้องเรียนเข้ามาเยอะแยะ หลังจากมีข่าวการทุจริต 100 ข้าราชการ มีร้องเรียนเข้ามาเรื่อย ๆ เดือนหนึ่งเป็นร้อยๆ เรื่อง ซึ่งมีทั้งรายย่อย รายใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องบุกรุกป่าที่กำลังมีการตรวจสอบกันในขณะนี้ จะมีคนที่กล้าร้องเข้ามามากขึ้น เพราะเขาเห็นว่ารัฐบาลเอาจริง หน่วยงานต่าง ๆ ทำได้  ความจริง ศอตช.ถือเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนที่สำคัญ ถ้าไม่มี ศอตช. ไม่มีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ลงมาทำการขับเคลื่อนก็คงลำบาก ตรงนี้จึงถือเป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ทั้งระบบ
            
เมื่อถามถึงการดำเนินกับข้าราชการที่ทุจริต ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว  นายประยงค์ กล่าวว่า ในการโยกย้ายคงทำอะไรไม่ได้เพราะเกษียณไปแล้ว แต่ในทางอาญาก็ยังต้องดำเนินคดีต่อไป โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ป.ป.ง.)  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (ส.ต.ง.) ก็ต้องรีบดำเนินการในส่วนของคดีอาญา
            
“สิ่งที่นายกฯทำขณะนี้ มันไม่ใช่การย้ายอย่างเดียว แต่เป็นการแก้ปัญหาทั้งระบบ คนที่ทุจริตอยู่แล้ว หากปล่อยไว้ที่เดิม เดี๋ยวก็ไปทุจริตอีก เพราะการไปขอพยานหลักฐานอะไรก็ติดขัดไปหมด แต่พอโยกย้ายไปปุ๊บ ก็จะได้ 2 อย่างคือ แก้ปัญหาการทุจริตที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่ และการดำเนินการทำได้เร็ว พอย้ายและเร่งรัดให้ดำเนินการทางวินัย เท่ากับเป็นการลงโทษให้เร็วขึ้น ปัญหาที่ผ่านมาคือการลงโทษช้า ทำให้ถูกมองว่าปราบปรามไม่ได้ผล คนไม่กลัว แต่มาตอนนี้พอพบทุจริต มีหลักฐานชัดเจน ย้ายออก ลงโทษทางวินัย ก็จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นขึ้น ที่ผ่านมา 3-4 ปี เราทำอะไรเขาไม่ได้เลย แต่ตอนนี้แม้ว่าเราเอาเขาติดคุกไม่ได้ แต่เขาก็ถูกไล่ออก และถ้าทำอย่างนี้ได้ทั้งระบบ ทุกอย่างก็จะดีขึ้น ไม่ต้องคิดอะไรมาก แค่มีข่าวจะย้ายข้าราชการ 100 คนก็มีแรงกระเพื่อมแล้ว  คนที่คิดจะทำก็แขยงไป ซึ่งผมว่าแบบนี้ดี แต่เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างล่าช้า ปีนี้จับทุจริตได้รายหนึ่ง รอไปอีกจนปลายปีโน่นจึงจะจับได้อีกรายหนึ่ง ไม่ได้เกิดผลกระทบอะไรในภาพรวมเลย  แต่อย่างนี้พอหน่วยงานต่าง ๆ ทำงานร่วมกันก็พรึบทีเดียว ดังนั้นเราต้องรักษาแนวทางตรงนี้ไว้ ”นายประยงค์ กล่าว
            
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นห่วงเรื่องการถูกฟ้องกลับจากข้าราชการเหล่านี้หรือไม่ เลขาฯป.ป.ท. กล่าวว่า  เราก็ต้องเสี่ยง ซึ่งวิธีที่จะไม่ให้ข้าราชการฟ้องกลับก็คือเราต้องทำอย่างถูกต้อง ตรงไป ตรงมา รัดกุมที่สุด มีหลักฐานชัดเจน แต่ถ้าไปกลั่นแกล้งเขา เราก็โดนเมื่อนั้น ดังนั้นเราต้องมั่นใจในข้อมูลหลักฐานที่เรามีอยู่

ที่มา : นวหน้า

 

Copyright © 2018

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) 99 หมู่ 4 อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120

Page rendered in 0.0312 seconds

Valid CSS! web counter web counter