นโยบายการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ

การกำหนดเขตที่ดินของรัฐมีปรากฏมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2475 เมื่อรัฐตรากฎหมายเกี่ยวกับการสงวนและคุ้มครองป่าเพื่อประโยชน์ในด้านการทำสัมปทานป่าไม้ ต่อมาในปี พ.ศ. 2484 พระราชบัญญัติป่าไม้ มีผลบังคับใช้โดยกำหนดให้ที่ดินในป่าไม้เป็นที่ดินของรัฐ และกำหนดนิยามของป่าไม้หมายความรวมถึงที่ดินที่ ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฏหมายที่ดิน ความพยายามที่จะบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ป่าไม้ของประเทศมีความชัดเจนขึ้นเป็นลำดับ จากสถานการณ์ป่าไม้ของประเทศที่พื้นที่ป่าลดลงอย่างรวดเร็ว จากรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภา นิติบัญญัติแห่งชาติ 2558 ที่ได้ทำการศึกษาเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ของชาติ พบว่าในช่วงปี พ.ศ. 2516 – 2541 พื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก 138.567 ล้านไร่ เหลือ 81.076 ล้านไร่ และช่วงปี พ.ศ 2543 – 2556 พื้นที่ป่าไม้ลดลงจาก 106.319 ล้านไร่ เหลือ 102.12 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการลดลงปีละ 0.30 ล้านไร่ต่อปี ทั้งนี้ การศึกษาดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดปัญหาที่ดินป่าไม้ของชาติ ไว้ดังนี้

    1. นโยบาย แผน และองค์กร ที่เกี่ยวข้องมีปัญหา กล่าวคือ นโยบายด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ขาดเอกภาพและเป้าหมายที่ชัดเจน นโยบายส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจและพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าไม้ นโยบายแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับที่ดินป่าไม้ขาดความยั่งยืนและชัดเจนในทางปฏิบัติ แผนแม่บทเพื่อพัฒนาการป่าไม้ของประเทศไทยในอดีตล้มเหลว องค์กรด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ขาดเอกภาพและไม่เอื้อต่อการบริหารและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น

    2. ระบบฐานข้อมูลที่ดินป่าไม้ไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ แนวเขตป่าไม้และที่ดินของรัฐประเภทอื่น ไม่ชัดเจนและมีการทับซ้อนกัน การจำแนกพื้นที่ที่ดินป่าไม้เพื่อการบริหารจัดการ (Zoning) ยังไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่จริงในปัจจุบัน ฐานข้อมูลผู้ใช้ประโยชน์และ ผู้ครอบครองพื้นที่เขตป่าไม้และที่ดินรัฐประเภทอื่น ยังไม่ถูกต้อง สมบูรณ์ ครบถ้วน และทันสมัย

    3. กฎหมายที่มีอยู่ไม่ทันสมัย ขาดประสิทธิภาพในการป้องกันและแก้ไขปัญหา กล่าวคือ กฎหมายบางมาตราไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับเขตป่าและที่ดิน บางฉบับไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเป็นระบบหรือครบวงจร ไม่มีมาตรการที่เพียงพอและเหมาะสม

ในด้านการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ คณะกรรมการนโยบายที่ดินของรัฐ (คทช.) ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อเข้ามาบริหารจัดการที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด สมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และความมั่นคงของประเทศ และได้เห็นชอบในหลักการให้นำร่างยุทธศาสตร์การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ดินของประเทศ โดยมีกรอบในการจัดทำนโยบายและแผนการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ดินของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย ๔ ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการรักษาความสมดุลทางธรรมชาติ การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสำคัญ อาทิ การทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ ได้รับการแก้ไขนำไปสู่การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มอบให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน) ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำแผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติขึ้นเพื่อพิทักษ์รักษาทรัพยากรป่าไม้ให้สมบูรณ์ พื้นที่ป่าไม้ของประเทศมีไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศภายใน 10 ปี โดยแผนแม่บทกำหนดเป้าหมายเพื่อ

    1. หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่าและทวงคืนผืนป่าจากผู้บุกรุกครอบครองให้ได้ตามที่เป้าหมายกาหนดไว้ภายใน 1 ปี

    2. จัดให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยั่งยืนภายใน 2 ปี

    3. ฟื้นฟูสภาพป่าในพื้นที่ป่าเป้าหมายทั่วทั้งประเทศให้มีสภาพที่สมบูรณ์ภายใน 2 – 10 ปี

about-me

โดย “ยุทธศาสตร์การพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้” แบ่งออกเป็น 4 ประเด็นยุทธศาสตร์และกำหนดกลยุทธ์ในแต่ละประเด็นยุทธศาสตร์ รวม 17 กลยุทธ์ดังนี้

1. ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 ผนึกกำลังป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้

    1.1 กลยุทธ์ “หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรธรรมชาติ”

    1.2 กลยุทธ์ “จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทาลายป่า”

    1.3 กลยุทธ์ “ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า”

    1.4 กลยุทธ์ “ยึดคืนพื้นที่ป่า ยับยั้งการบุกรุกป่า และแก้ปัญหาป่าบุกรุกคน โดยใช้ ภาพถ่ายทางอากาศเป็นหลักฐานหลักร่วมกับ หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง”

2. ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 2 ปลุกจิตสำนึกรักผืนป่าของแผ่นดิน

    2.1 กลยุทธ์ “กำหนดให้การแก้ไขปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าเป็นวาระแห่งชาติ”

    2.2 กลยุทธ์ “จัดตั้งองค์กรแนวร่วมภาคประชาชนเพื่อปลุกจิตสำนึก”

    2.3 กลยุทธ์ “ปลุกจิตสำนึกให้เจ้าหน้าที่มีความภาคภูมิใจในการปฏิบัติงาน”

3. ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 3 ปฏิรูประบบการพิทักษ์ทรัพยากรป่า

    3.1 กลยุทธ์ “ปรับปรุงระบบการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้”

    3.2 กลยุทธ์ “พิจารณาจัดตั้งหน่วยงานด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทั้งระดับจังหวัดและอำเภอ”

    3.3 กลยุทธ์ “จัดทำแนวเขตทรัพยากรป่าไม้ทุกประเภทให้เป็นแนวเดียวที่ชัดเจน”

    3.4 กลยุทธ์ “จำแนกเขตการใช้ประโยชน์ทรัพยากรและที่ดินป่าไม้ (Zoning)”

    3.5 กลยุทธ์ “ปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เป็นอุปสรรคในการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้”

      4. ประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 4 ฟื้นฟูและดูแลรักษาป่าอย่างยั่งยืน

        4.1 กลยุทธ์ “จัดระบบการดูแลรักษาทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมกับประชาชน”

        4.2 กลยุทธ์ “จัดระบบการปลูกไม้เศรษฐกิจของประเทศเพื่อทดแทนความต้องการและลดการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า”

        4.3 กลยุทธ์ “ให้คนอยู่กับป่าพึ่งพากันอย่างมีความสุข”

        4.4 กลยุทธ์ “เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการฟื้นฟูและดูแลป่าอย่างยั่งยืน”

        4.5 กลยุทธ์ “ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้

          ยุทธศาสตร์ที่ 2 ด้านการใช้ที่ดินและทรัพยากรที่ดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นธรรม วัตถุประสงค์ มุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของการจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ให้เกิดประโยชน์สูงสุดลดปัญหาการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า ลดปัญหาขนาดการถือครองเพิ่มความเป็นธรรมต่อเจ้าของที่ดินและลดปัญหาการใช้ดินที่ดินผิดประเภท

          ยุทธศาสตร์ที่ ๓ ด้านการจัดที่ดินให้ประชาชนผู้ด้อยโอกาสอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม วัตถุประสงค์ ให้เป็นไปตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยมุ้งเน้นให้ผู้ด้อยโอกาสมีที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และบริการขั้นพื้นฐานให้พึ่งตนเองได้ เพื่อประสิทธิภาพด้านการให้บริการสาธารณูปโภคและป้องกันมิให้มีการถ่ายโอนทรัพย์สินของรัฐไปยังกลุ่มผลประโยชน์

          ยุทธศาสตร์ที่ ๔ ด้านการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรที่ดิน วัตถุประสงค์ มีเอกภาพในการบริหารจัดการที่ดิน และทรัพยากรดินที่อาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน ลดปัญหาความซ้ำซ้อน และความล่าช้า โดยในยุทธศาสตร์นี้ ได้กำหนดแนวทาง ข้อ 4.2 พัฒนาระบบการจัดทำแผนที่ที่กำหนดเขตที่ดินของรัฐ ด้วยการเร่งรัดจัดทำฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐให้ชัดเจนและเป็นที่ยอมรับ โดยใช้แผนที่มาตราส่วนเดียวกัน (1 : 4000) และปรับข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐให้มีกฎหมายรองรับ

          รัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นโยบายชัดเจนที่จะทำให้แนวเชตที่ดินของรัฐตรงตามที่ประกาศตามกฎหมาย แนวเขตที่ดินต้องต่อกันสนิท ไม่ทับซ้อนไม่มีช่องว่าง ฐานข้อมูลแนวเขตต้องเกิดจากการสำรวจในภาคสนามเพื่อยืนยันความถูกต้องตามสภาพข้อเท็จจริงและหลักวิชาการ ทั้งนี้ การปรับปรุงแนวเขตที่ดินรัฐ จึงเป็นขั้นตอนเริ่มต้นที่สำคัญนำมาซึ่งฐานข้อมูลแนวเขตที่ดินของรัฐที่ถูกต้องตามกฎหมาย ก่อนนำไปดำเนินการในขั้นตอนอื่น ๆ ต่อไป

about-me