โครงการแถลงข่าวและนิทรรศการผลงานสำคัญของสำนักงาน ป.ป.ท.ในวันคล้าย วันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ท. ปีที่ 8
27 มกราคม 2559 3927

        เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2559 เวลา 08.00 น. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) จัดงานเนื่องในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงาน ป.ป.ท. ปีที่ 8 ณ บริเวณหน้าอาคารซอฟต์แวร์ปาร์ค ซึ่งเป็นพิธีสักการะบูชาพระพิฆเนศ และทำบุญตักบาตรข้าวสารอาหารแห้ง นำโดยนายประยงค์  ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ พร้อมด้วยคณะกรรมการ ป.ป.ท. ผู้บริหาร พนักงาน และเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ท.

         จากนั้น เวลา 10.00 น. บริเวณโถงชั้น 28 สำนักงาน ป.ป.ท.ร่วมจัดพิธีสงฆ์ นำโดย นายโสภณ      จันเทรมะ ประธานกรรมการ ป.ป.ท. เป็นประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย โดยมี ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน ป.ป.ท. เข้าร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน

         จากนั้นเวลา 13.00 น. มีการจัดนิทรรศการ “โครงการแถลงข่าวและนิทรรศการผลงานสำคัญของสำนักงาน ป.ป.ท.ในวันคล้ายวันสถาปนา สำนักงาน ป.ป.ท.” โดยมีเจ้าหน้าที่ให้ความสนใจอย่างมาก และเวลาต่อมา นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวแถลงผลงาน ป.ป.ท.  ในปีที่ผ่านมา โดยกล่าวถึงสภาพปัญหาและสถานการณ์การทุจริตตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาก่อนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ว่ามีความรุนแรงกระทั่งตกอยู่ในภาวะวิกฤติทั้งในเชิงพฤติการณ์และเชิงพื้นที่ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจาก โครงสร้างระบบราชการอ่อนแอจึงถูกแทรกแซงจากภาคการเมืองและผู้มีอิทธิพล เป็นเหตุให้กลไกการแก้ไขปัญหาขาดประสิทธิภาพ  ในขณะเดียวกันภาคีเครือข่ายภาคธุรกิจและประชาสังคมก็ไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะเป็นพลังสำคัญในการต่อต้านการทุจริตได้   โดยเฉพาะภาคประชาชนส่วนใหญ่ยังยอมรับและเพิกเฉยต่อการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน จึงอาจกล่าวได้ว่า     “ป้องกันไม่ได้ทำ ปราบปรามไม่ได้ผลคนผิดไม่เกรงกลัว”
          อย่างไรก็ตามกว่า 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาแก้ไขสถานการณ์ของประเทศควบคู่กับการส่งต่อภารกิจการบริหารราชการแผ่นดิน   ยังคณะรัฐมนตรี ตามที่ปรากฏในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2557 นั้น  การแก้ไขปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบถูกกำหนดเป็นภารกิจสำคัญภายใต้นโยบายเร่งด่วนและถือเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดโครงสร้างการแก้ไขปัญหาให้มีคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งมีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นประธาน ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาการทุจริตในภาพรวมของประเทศ พร้อมทั้งให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธาน    ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานการขับเคลื่อนมาตรการและกลไกการปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ในภารกิจด้านการต่อต้านการทุจริตร่วมกัน โดยมีสำนักงาน ป.ป.ท. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการขับเคลื่อนตามนโยบายและข้อสั่งการดังกล่าวเรื่อยมา กระทั่งปรากฏผลงานขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และผลการป้องกันปราบปรามการทุจริตเป็นที่ประจักษ์ ดังนี้

    

ผลการขับเคลื่อนระดับนโยบาย

1.      วางกลไกการขับเคลื่อนให้ทุกส่วนราชการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง โดยมุ่งเน้นให้หัวหน้าส่วนราชการ กำหนดมาตรการแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริตในหน่วยงานของตน

2.      การใช้มาตรการทางบริหาร (คำสั่งย้าย/พักราชการ) กับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ถูกกล่าวหาหรืออยู่ระหว่างการตรวจสอบกรณีเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยนำเสนอหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พิจารณาใช้ ม.44 มีคำสั่งทางบริหารเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว เด็ดขาด และจริงจัง

3.      กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายจากฝ่ายบริหารสู่การปฏิบัติระดับองค์กรและพื้นที่ผ่านศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ศปท.) ระดับกระทรวง เพื่อเป็นกลไกประสานการขับเคลื่อนและกระตุ้นให้ทุกส่วนราชการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตร่วมกัน

 

ผลการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

1.      เร่งรัด กำกับ ติดตาม และสนับสนุนกลไกการดำเนินงานให้ทุกส่วนราชการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 สู่การปฏิบัติเพื่อปิดช่องโอกาสการทุจริตในหน่วยงานภาครัฐอย่างแท้จริง

2.      ส่งเสริมผลักดันโครงการสร้างความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (COST) และโครงการความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) แนวร่วมภาคเอกชนต่อต้านการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Collective Action) การใช้ระบบ e-Bidding/e-Market แทนระบบ e-Action

3.      ผลักดันเสนอจัดตั้งแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐในศาลอาญา และสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตในสำนักอัยการสูงสุด

4.      ตรวจสอบการทุจริตก่อสร้างสนามฟุตซอล ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) งบประมาณ 689 ล้านบาท จัดสรรให้โรงเรียนจำนวน 358 แห่ง ใน 17 จังหวัด

5.      ตรวจสอบการใช้งบอุดหนุนเฉพาะกิจระบบส่องสว่างพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar cell) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 อปท. หลายแห่ง ได้รับจัดสรรเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ จำนวน 173 โครงการ งบประมาณ 548,654,000 บาท

6.      ตรวจสอบกรณีการจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายของกรมพลศึกษาและกรมการท่องเที่ยว ในปีงบประมาณ 2555-2557 กรมพลศึกษาและกรมการท่องเที่ยว ได้รับการจัดสรรงบประมาณ (งบแปรญัตติ) รวม 26 โครงการ งบประมาณ 1,417,952,600 บาท

7.      เร่งรัดตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงคดีร้องเรียนกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สำนักงาน ป.ป.ท.รับไว้ในปีงบประมาณ 2558 โดยดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงเสร็จสิ้น จำนวน 4,048 เรื่อง คณะกรรมการ ป.ป.ท. รับไว้ไต่สวนข้อเท็จจริง จำนวน 962 เรื่อง  และชี้มูลความผิดแล้ว 263 เรื่อง

 

การขับเคลื่อนในปี พ.ศ. 2559

    สำหรับในปี พ.ศ. 2559 นั้น นอกจากการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ตามภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ท. แล้ว  ในบทบาทของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สำนักงาน ป.ป.ท. ได้กำหนดเป้าหมายกลยุทธ์สำคัญในการดำเนินงาน ไว้ดังนี้

1.      การนำมาตรการทางภาษีอากรและการตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินมาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการตรวจสอบผู้ถูกกล่าวหาร้องเรียนคดีเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบ

2.      การป้องปรามทุจริตเชิงรุก โดยมุ่งเน้นการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 7,853 แห่ง ทั้งกรณีการเบิกจ่ายงบประมาณอุดหนุนเฉพาะกิจที่ได้รับการจัดสรรประจำปี พ.ศ. 2559 และการตรวจสอบผลการดำเนินงานโครงการสำคัญตามนโยบายของรัฐบาล เช่น โครงการตามมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท)

3.      การแก้ไขปัญหาการจัดการที่ดินของรัฐเกี่ยวกับแนวเขตที่ไม่ชัดเจน ซึ่งมีมีคณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) เพื่อประกาศใช้เป็นมาตราส่วนเดียวกันทั่วประเทศ โดยสำนักงาน ป.ป.ท.เป็นกรรมการและและฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ ทั้งนี้เพื่อจะนำไปสู่การจัดการที่ดินของรัฐให้มีประสิทธิภาพต่อไป

4.      การจัดทำโครงการ “ยุติธรรมเดินหน้า ป.ป.ท. อาสา พาโปร่งใส โยธาท้องถิ่นร่วมใจประชาชนได้บริการ” เพื่อมอบเป็นของขวัญให้แก่ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

     นายประยงค์  ปรียาจิตต์ ยังได้แสดงความชื่นชม ให้กำลังใจ และมอบนโยบายให้กับเจ้าหน้าที่ สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะองค์กรป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ ซึ่งเป็นภารกิจที่ต้องทำอย่างเอาจริงเอาจังและต่อเนื่อง ให้ดำเนินการตรวจสอบเชิงรุกและไต่สวนคดีทุจริตให้รวดเร็ว เด็ดขาดเห็นผลเป็นรูปธรรม รวมทั้ง เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาสังคมในการต่อต้านการทุจริต และปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เที่ยงธรรม ด้วยเจตจำนงที่ตั้งมั่นเพื่อแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งกับบุคคล สังคม ตลอดจนความมั่นคงของชาติ ต่อไป

                       

    

    

    

    

    

    

    

                       

    

    

                        

 

ที่มา : กลุ่มงานประชาสัมพันธ์

ภาพ/ข่าว : อาสิน สมพงษ์  ,อานนท์ เธียรโชติ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมพิธีบำเพ็ญกุศลและกิจกรรมน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต รัชกาลที่ 5

23 ตุลาคม 2562


สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมสัมมนาระดับชาติ “การผลักดันยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สู่ประเทศไทยใสสะอาด ไทยทั้งชาติต้านทุจริต” ปี 2562

19 สิงหาคม 2562


สำนักงาน ป.ป.ท. ร่วมพิธีฯ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ประจำปีพุทธศักราช 2562

12 สิงหาคม 2562


สำนักงาน ป.ป.ท. จับมือสำนักงาน ป.ป.ช. ลงนาม MOU แลกเปลี่ยนข้อมูลคดีทุจริตผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

09 สิงหาคม 2562


สำนักงาน ป.ป.ท. พลิกโฉมการทำงานสู่ระบบบริหารภาครัฐอัจฉริยะ NEW Smart Governance

05 กุมภาพันธ์ 2562


 

Copyright © 2018

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) 99 หมู่ 4 อาคารซอฟต์แวร์ ปาร์ค ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลคลองเกลือ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120

Page rendered in 0.0624 seconds

Valid CSS! web counter web counter